เป็นหน่วยงานระดับกองกำกับการ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๒ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ หน่วยงานตั้งอยู่ที่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภัคดี (อาคาร บี ) ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขโทรสาร ๐ ๒๙๒๙ ๓๔๓๕ หรือสายด่วน บก.ปคบ. ๑๑๓๕
กองกำกับการ ๔ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(กก.๔ บก.ปคบ.) มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาหารและยา สืบสวนสอบสวนปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับอาหารและยา และความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย
ความผิดเกี่ยวกับอาหารและยาที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของกองกำกับการ ๔ ประกอบด้วยความผิดพระราชบัญญัติต่างๆ จำนวน ๕ ฉบับ ดังนี้
(๑) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐
(๒) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒
(๓) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.๒๕๕๑
(๔) พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๓๕
(๕) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕
1. งานอำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนายการ และธุรการต่างๆ ของ กองกำกับการ ประกอบด้วย งานธุรการและสารบรรณ งานบริหารงานบุคคล งานกฎหมาย งานคดี และวินัย งานนโยบายและแผน งานยุทธศาสตร์ งานการเงินและงานบัญชี งานงบประมาณ งานส่งกำลังบำรุง งานสวัสดิการ งานช่วยอำนวยการและเลขานุการ งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร งานศึกษาอบรม และงานการข่าว
2. งานป้องกันและปราบปราม มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผน อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบติดตามและประเมินผลงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการสืบสวนการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารและยา รวมทั้งความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องทั่วราชอาณาจักร โดยแบ่งการปฏิบัติออกเป็นชุดปฏิบัติการ 4 ชุด ได้แก่
2.1 ชุดปฏิบัติการ ๑ รับผิดชอบพื้นที่ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 , 4 และพื้นที่ในจังหวัดนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 3,8, 9, และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.2 ชุดปฏิบัติการ ๒ รับผิดชอบพื้นที่ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 2 และพื้นที่ในจังหวัดนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 2, 4
2.3 ชุดปฏิบัติการ ๓ รับผิดชอบพื้นที่ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 5, 6 และพื้นที่ในจังหวัดนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 1, 7 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.4 ชุดปฏิบัติการ 4 รับผิดชอบพื้นที่ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 7, 8 ,9 และพื้นที่ในจังหวัดนอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของตำรวจภูธรภาค 5 , 6
3. งานสอบสวน มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สืบสวนสอบสวนการกระทำผิดที่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับอาหารและยา หรือการกระทำผิดทางอาญาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย
มีอำนาจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายส่งพนักงานสอบสวนท้องที่หรือนำมาส่งพนักงานสอบสวน กก.๔ บก. ปคบ. ดำเนินคดี
คดีที่มีความสำคัญและเกี่ยวเนื่อง จะนำส่งพนักงานสอบสวน กก.๔ บก.ปคบ. ส่วนคดีที่มีความผิดเล็กน้อยหรือมีของกลางจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะส่งพนักงานสอบสวนพื้นที่ที่ดำเนินคดี